treepoowan.com=> หน้าหลัก

 
พระผงสุพรรณพิมพ์หน้าแก่ จัดว่าเป็นพระเครื่องที่ถูกจัดไว้ในหมวดหมู่ของชุดพระเบญจภาคี ซึ่งเป็นพระเครื่องอันดับต้นๆของประเทศไทย พระผงสุพรรณเป็นพระที่มีอายุเก่าแก่มากๆ ซึ่งแต่ละองค์ก็มีอายุยาวนานมากว่า 500 ปีขึ้นไป และไม่ใช่เพียงแค่ความเก่าแก่ที่น่าสนใจ ในด้านของอิทธิฤทธิ์และพุทธคุณจัดได้ว่าสุดยอดอย่างแน่นนอน ทำให้ชาวไทยและนักสะสมพระเครื่องหลายๆท่านต้องการมีไว้บูชาสักองค์หนึ่งในชีวิต




ใครเป็นผู้สร้างพระผงสุพรรณ
จากสำเนาจารึกลานทองที่ค้นพบกล่าวถึงการสร้าง พระผงสุพรรณไว้ พระผงสุพรรณถูกสร้างและปลูกเสกจากฤาษี 4 ตน ซึ่งแน่นอนว่าสมัยก่อนนี้นั้นในด้านของกำลังสมาธิความแก่กล้าทางด้านอภิญญาเวทมนต์พระคาถาต่างๆนั้นมีความเข้มขลังอย่างมาก จึงทำให้พระในยุคเก่ามีคุณค่าและให้พุทธคุณอย่างสมบูรณ์แบบมากๆ
โดยการปลุกเสกครั้งนั้นท่านฤาษียังได้อัญเชิญเทวดาเข้ามาร่วมทำพิธีในการปลุกเสกด้วย



พระผงสุพรรณสามารถพบเจอได้ที่ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  สุพรรณบุรี  นับเป็นพระเครื่องเลื่องชื่อ ถูกบรรจุอยู่ในชุด “เบญจภาคี” ซึ่งมีทั้งเนื้อดินและเนื้อชินเงิน  ที่เรียกว่า  พระผงสุพรรณยอดโถ แต่สาเหตุที่เรียกว่า ผงสุพรรณ ก็เนื่องจากการค้นพบจารึกลานทองกล่าวถึงการสร้างจากผงว่านเกสรดอกไม้อันศักดิ์สิทธิ์  จึงได้รับการเรียกขานกันว่า ผงสุพรรณ เรื่อยมา  โดยสามารถจำแนกออกได้เป็น ๓ พิมพ์
 
1.  พระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าแก่
2.  พระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้ากลาง
3.  พระผงสุพรรณ  พิมพ์หน้าหนุ่ม


ในด้านพุทธศิลป์
ศิลปะพระผงสุพรรณมีความสัมพันธ์กับศิลปะพระพุทธรูปประเภทหนึ่ง ได้แก่  พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง
เนื่องมาจากแหล่งต้นกำเนิดของพระผงสุพรรณอยู่ในบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของศิลปะทางศาสนาที่เรียกว่า ศิลปะอู่ทอง

นอกจากนี้ ลักษณะการแบ่งแม่พิมพ์พระผงสุพรรณยังจำแนกและเรียกชื่อแม่พิมพ์ตามพุทธลักษณะของพระพุทธรูปอู่ทอง  ซึ่งได้แก่  พิมพ์หน้าแก่  พิมพ์หน้ากลาง  และพิมพ์หน้าหนุ่ม  อีกด้วย  

สำหรับพระผงสุพรรณเนื้อดินนั้น  เป็นพระเครื่องที่มีส่วนผสมวัสดุมวลสารจากดินละเอียด ว่าน และเกสรต่าง ๆ  คนโบราณเรียกว่า  “พระเกสรสุพรรณ”  จะสังเกตได้ว่าเนื้อดินของพระผงสุพรรณเป็นเนื้อดินค่อนข้างละเอียด
พระผงสุพรรณเนื้อดินเป็นพระที่ผ่านการเผาไฟ  สีสันขององค์พระจึงเป็นเฉกเช่นเดียว  กับพระเนื้อดินที่ผ่านการเผาประเภทอื่น ๆ คือ มีตั้งแต่สีเขียวที่ถูกเผาในอุณหภูมิสูงและนานที่สุด สีแดง  สีมอย  สีน้ำเงินเข้ม สีเทา  ไปจนถึงสีดำ

การสร้างพระพิมพ์เนื้อดินเผา  มีมาแต่สมัยโบราณโดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างควบคู่มากับเทคนิคการทำเครื่องปั้น  ดินเผา โดยเฉพาะดินแดนประเทศไทยนั้น พบพระพิมพ์ดินเผาตั้งแต่ยุคทวาราวดีเรื่อยมา